วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ลำนำบึงกาฬ - สุดอีสาน แดนสยาม บึงกาฬ ปากซัน



สิ้นสุดการรอคอยอันยาวนานของชาวบึงกาฬที่เรียกร้องให้จัดตั้งอ. บึงกาฬ เป็นจังหวัดใหม่ แยกออกจาก จ.หนอง คายมาตั้งแต่ปี 2535 เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้บึงกาฬเป็นจังหวัดใหม่ ลำดับที่ 77 ของประเทศไทย

หากดูตามแผนที่ จ.หนองคายมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ทอดตัวไปตามลำน้ำโขง เป็นแนวยาว 330 กิโลเมตร การเดินทางจากอำเภอฝั่งตะวันตกสุดไปยังอำเภอฝั่งตะวันออกสุดต้องใช้เวลา เกือบครึ่งค่อนวัน ยกตัวอย่าง เช่น เดินทางจากอ.บึงโขงหลงเข้าตัวเมืองหนองคาย เป็นระยะทางถึง 238 กิโลเมตร ระยะทางพอๆ กับกรุงเทพฯ ไปจ.นครสวรรค์

ด้วยสภาพเช่นนี้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความห่างเหินระหว่างชาวหนองคายด้วยกัน และเป็นอุปสรรคในการติดต่อราชการ ทำให้ภาครัฐดูแลเอาใจใส่ประชาชนไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร ตามมาด้วยปัญหาการกระทำผิดกฎหมายและความมั่นคงของประเทศ เหล่านี้เป็นประเด็นหลักที่ต้องตั้ง จ.บึงกาฬ

เดิมจ.หนองคาย มี 17 อำเภอ เมื่อแยก จ.บึงกาฬ ออก จะทำให้จ.หนองคายมี 9 อำเภอ ประกอบด้วย เมืองหนองคาย, ท่าบ่อ, ศรีเชียง ใหม่, สังคม, โพธิ์ตาก, สระใคร, โพนพิสัย, เฝ้าไร่, และรัตนวาปี มีประชากร 506,343 คน

ส่วนจ.บึงกาฬ มี 8 อำเภอ ประกอบด้วย บึงกาฬ, เซกา, โซ่พิสัย, พรเจริญ, ปากคาด, บึงโขงหลง, ศรีวิไล, และ อ.บุ่งคล้า ประชากร 399,233 คน

มารู้จักจังหวัดน้องใหม่กันสัก นิด บึงกาฬมีพื้นที่ทั้งหมด 4,305.746 ตารางกิโลเมตร ทอดยาวตามลำน้ำโขงตั้งแต่ อ.ปากคาด ถึงอ.บึงโขงหลง ประมาณ 120 กิโลเมตร



ตัว อ.บึงกาฬ อยู่ตรงกับเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ประชาชนลาว ชาวบึงกาฬและชาวลาวข้ามไปมาหาสู่กันผ่านทางด่านถาวรบึงกาฬ และตามจุดผ่อนปรน อ.ปากคาด กับ อ.บุ่งคล้า อยู่เสมอ

นอกจากนี้ บริเวณด่านศุลกากรบึงกาฬยังมีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านแดนด้วยแพขนาน ยนต์ ไปยังประเทศลาว ก่อนส่งต่อไปยังประ เทศเวียดนามและจีน คิดเป็นมูลค่า 500-3,000 ล้านบาทต่อปี

บึงกาฬมีสถานที่ราชการสำคัญ และเปิดให้บริการประชาชนรองรับการเป็นจังหวัดมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2537 ไม่ว่าจะเป็น ศาลจังหวัดบึงกาฬ, สำนักงานอัยการจังหวัดบึงกาฬ, เรือนจำจังหวัดบึงกาฬ, สำนักงานขนส่งจังหวัดหนองคาย สาขาบึงกาฬ, โรงพยาบาลบึงกาฬ, แขวงการทางหนองคายที่ 2, ตชด.244, ศุลกากรบึงกาฬ, ด่านตรวจคนเข้าเมืองบึงกาฬ

อีกทั้งมีหน่วยงานสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า, ประปา, โทรศัพท์ และไปรษณีย์ อยู่ครบครัน รวมถึงสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สาขาบึงกาฬ

ส่วนศูนย์ราชการที่จะสร้างใหม่ กำหนดพื้นที่ไว้บริเวณที่สาธารณประโยชน์กุดทิง ต.โนนสมบูรณ์ อ.บึงกาฬ เนื้อที่ 870 ไร่ โดยจะก่อสร้างศาลากลางจังหวัด กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัด และหน่วยงานราชการอื่นๆ



นาย เลิศพรไชย ไชยฤทธิ์ นายอำเภอบึงกาฬ กล่าวว่า หลังจากที่ทราบมติครม.แล้ว ชาวบึงกาฬทุกคนต่างยินดีกันถ้วนหน้า เป็นการรอคอยอันแสนยาวนาน กว่าวันนี้จะมาถึงชาวบึงกาฬ และอำเภอใกล้เคียงได้ร่วมกันหารือ กำหนดวิสัยทัศน์จังหวัดไว้ล่วงหน้า ก่อนจะมีมติ ครม.ออกมาว่า ต้องการให้เป็น "เมืองศูนย์ กลางยางพารา พัฒนาการท่องเที่ยว"

เนื่องจากเดิมหนองคายมีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคอีสาน และพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในอ.บึงกาฬ เมื่อเป็นจังหวัดใหม่แล้วจะทำให้จ.บึงกาฬมีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุดแทน ประมาณ 300,000 ไร่ ผลผลิตยางพาราในบึงกาฬมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น มียางที่กรีดได้แล้วประ มาณร้อยละ 80 และเกษตรกรก็ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นอีกทุกปี ยางพาราจึงถูกกำหนดให้เป็นพืชเศรษฐกิจในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้

ที่ จะพัฒนาควบคู่กันไป คือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีอยู่ในอำเภอรายรอบบึงกาฬ อาทิ "พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง" อุดมไปด้วยพันธุ์ปลาและพันธุ์ไม้น้ำ เหมาะแก่การศึกษาระบบนิเวศวิทยา หรือ "แก่งอาฮง" วัดอาฮงศิลาวาส ตั้งอยู่บริเวณจุดแคบสุดของแม่น้ำโขง บริเวณนี้มีกลุ่มหินสวยงาม และเป็นจุดหนึ่งที่เกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

"เขต รักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว" แหล่งอาศัยของสัตว์นานาชนิด ทั้งช้างป่า เสือ กระทิง วัวแดง เนื้อทราย กวาง เก้ง กระจง ฯลฯ บริเวณเดียวกันนี้ยังมีน้ำตกสวยงามหลายแห่ง อาทิ น้ำตกถ้ำฝุ่น น้ำตกชะแนน น้ำตกเจ็ดสี

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง รวมถึงวัด และแหล่งปฏิบัติธรรมหลายแห่ง เช่น วัดเจติยาคีรีวิหาร หรือ ภูทอก ในอ.ศรีวิไล มีลักษณะเป็นภูเขาหินขนาดย่อม สูงจากระดับน้ำทะเล 350 เมตร เป็นที่ตั้งของ "เจดีย์พระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ" พระอาจารย์สายวิปัสสนาชื่อดัง ผู้ก่อตั้งวัดแห่งนี้ ทั้งหมดจะได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับการเป็นจังหวัดใหม่ และต้อนรับนักท่องเที่ยวในอนาคต

ใครที่สนใจอยากทำความรู้จักจังหวัด น้องใหม่ให้มากยิ่งขึ้น วันที่ 10-12 ก.ย.ที่จะถึงนี้ ชาวบึงกาฬจัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 11 แล้ว

งานนี้ นอกจากเป็นงานส่งท้ายอ.บึงกาฬแล้ว ยังถือเป็นการเฉลิมฉลองเปิดบ้านต้อนรับผู้มาเยือนอย่างไม่เป็นทางการ หลังจากจ.บึงกาฬได้รับการพิจารณาครบทุกขั้นตอนแล้ว

ชาวบึงกาฬจะจัดงานฉลองยิ่งใหญ่อีกครั้ง รวมถึงจะเดินหน้าสร้างสาธารณูปโภค อาคารสถานที่ และจัดตั้งองค์กรเอกชนต่างๆ ให้ครอบคลุมการเป็นจังหวัดใหม่

ทั้งหมดนี้คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนา และอนาคตของ "บึงกาฬ" จังหวัดที่ 77 ของประ เทศไทย

ที่มาบทความ
หน้า 5 ข่าวสดรายวัน

วันที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7192 ข่าวสดรายวัน

ที่มา http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=kengmanny&month=08-08-2010&group=17&gblog=213

1 ความคิดเห็น:

  1. บึงกาฬ บ้านเรามีอะไรให้เที่ยวชมเยอะแยะเลยครับ http://xn--12cl0dxd3av.com/

    ตอบลบ